สิทธิบัตร
สิทธิบัตร (patent) หมายถึง
หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์
ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบว่าด้วยสิทธิบัตร พ.ศ. 2522
เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบ
เพื่อให้ได้สิ่งของ,เครื่องใช้หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน
เช่น การประดิษฐ์รถยนต์, โทรทัศน์,
คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์
หรือการออกแบบขวดบรรจุน้ำดื่ม, ขวดบรรจุน้ำอัดลม
หรือการออกแบบลวดลายบนจานข้าว, ถ้วยกาแฟ
ไม่ให้เหมือนของคนอื่น เป็นต้น
ประเภทของสิทธิบัตร รูปแบบหรือประเภทของสิทธิบัตรตาม
พ.ร.บ. สิทธิบัตรจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1.สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หมายถึง การคิดค้นเกี่ยวกับ
กลไก โครงสร้าง ส่วนประกอบ ของสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กลไกของกล้องถ่ายรูป,
กลไกของเครื่องยนต์, ยารักษาโรค เป็นต้น
หรือการคิดค้นกรรมวิธีในการผลิตสิ่งของ เช่น วิธีการในการผลิตสินค้า, วิธีการในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป
เป็นต้น
2.สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง
การออกแบบรูปร่าง ลวดลาย หรือสีสัน ที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น
การออกแบบแก้วน้ำให้มีรูปร่างเหมือนรองเท้า เป็นต้น
3.อนุสิทธิบัตร (Petty patent) เป็นการให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์คิดค้น
เช่นเดียวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์
แต่แตกต่างกันตรงที่การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตร
เป็นการประดิษฐ์ที่มีเป็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
เงื่อนไขในการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์
/อนุสิทธิบัตร
การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ กฎหมายกำหนดว่า จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 อย่าง
ดังต่อไปนี้
1.เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ คือ ยังไม่เคยมีจำหน่ายหรือขายมาก่อน
หรือยังไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดของสิ่งประดิษฐ์ในเอกสารสิ่งพิมพ์ใดๆ ในทีวี
หรือในวิทยุ มาก่อน
2.มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น คือ ไม่เป็นสิ่งการประดิษฐ์ที่สามารถทำได้ง่าย
โดยผู้มีความรู้ในระดับธรรมดา หรืออาจพูดได้ว่า
มีการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคของสิ่งประดิษฐ์ที่มีมาก่อน และ
3.สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม หัตถกรรม เกษตรกรรม
และพาณิชยกรรมได้
การประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรได้ กฎหมายกำหนดว่า
จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 2 อย่าง ดังต่อไปนี้
1.เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ คือ ยังไม่เคยมีจำหน่ายหรือขายมาก่อน
หรือยังไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดของสิ่งประดิษฐ์ในเอกสารสิ่งพิมพ์ใดๆ ในทีวี
หรือวิทยุ มาก่อน และ
2.สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม หัตถกรรม เกษตรกรรม
พาณิชยกรรมได้
การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรไม่ได้
1.จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์
พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช เช่น แบคทีเรียที่มีอยู่ตามธรรมชาติ,พืชสมุนไพร,ยารักษาโรคที่สกัดจากสมุนไพร
เป็นต้น
2.กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น สูตรคูณ เป็นต้น
3.ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์
เป็นต้น
4.วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์
5.การประดิษฐ์
ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัย หรือ สวัสดิภาพของประชาชน เช่น
การคิดสูตรยาบ้า เป็นต้น
เงื่อนไขในการขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้
กฎหมายกำหนดว่า จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 2 อย่าง ดังต่อไปนี้
1.เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ
เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เคยมีหรือขายมาก่อน
หรือยังไม่เคยเปิดเผยในเอกสารสิ่งพิมพ์ใดๆ ในทีวี หรือในวิทยุมาก่อน และ
2.สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม หรือหัตถกรรมได้
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้
แบบผลิตภัณฑ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี
ของประชาชน
การขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร
/อนุสิทธิบัตร การยื่นขอจดทะเบียนจะต้องมีเอกสาร
ดังนี้
คำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์/อนุสิทธิบัตร
ต้องประกอบด้วย
- แบบพิมพ์คำขอ
แบบสบ/สผ/อสป/001-ก
-
รายละเอียดการประดิษฐ์
- ข้อถือสิทธิ
- บทสรุปการประดิษฐ์
- รูปเขียน (ถ้ามี)
- เอกสารอื่นๆ
-
หนังสือรับรองสิทธิเกี่ยวกับการขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร
(กรณีที่ผู้ขอเป็นบุคคล)
- หนังสือโอนสิทธิ
(กรณีที่ผู้ขอไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์)
- หนังสือมอบอำนาจ
-
ต้นฉบับหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
(กรณีนิติบุคคล)
-
สัญญาการว่าจ้าง/เอกสารแสดงการเป็นนายจ้างของผู้ประดิษฐ์
คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
ต้องประกอบด้วย
- แบบพิมพ์คำขอ
แบบสบ/สผ/อสป/001-ก
-
คำพรรณนาแบบผลิตภัณฑ์ (ถ้ามี)
- ข้อถือสิทธิ
- รูปเขียน
- เอกสารอื่น ๆ ได้แก่
หนังสือรับรองสิทธิเกี่ยวกับการขอรับสิทธิบัตร
(กรณีที่ผู้ขอเป็นบุคคลหนังสือโอนสิทธิ (กรณีที่ผู้ขอไม่ได้เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์)
หนังสือมอบอำนาจ ต้นฉบับหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
(กรณีผู้ขอเป็นนิติบุคคล)
สัญญาการว่าจ้าง/เอกสารแสดงการเป็นนายจ้างของผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์
ผู้ประดิษฐ์คิดค้นสามารถที่จะเลือกว่า
จะยื่นขอความคุ้มครองสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร อย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่จะขอความคุ้มครองทั้งสองอย่างพร้อมกันไม่ได้
อายุสิทธิบัตร
-
สิทธิบัตรการประดิษฐ์ มีอายุ 20 ปี นับจากวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร
-
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีอายุ 10 ปี นับจากวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร
อายุอนุสิทธิบัตร
-
อนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ มีอายุ 6 ปี นับจากวันยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร
สามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมเป็น 10 ปี
....................................................................................
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่
http://www.ipthailand.org/
หรือ http://www.lawonline.co.th/